เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [42. ภัททาลิวรรค] 2. เอกฉัตติยเถราปทาน
[55] ฤๅษีเหล่านั้นล้วนเชี่ยวชาญอภิญญา
เหาะไปในท้องฟ้าได้ เมื่อเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[56] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีศิษย์เหล่านั้นแวดล้อมอยู่ในป่าใหญ่
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความยินดีในฌาน
จนไม่รู้จักกลางคืนและกลางวัน
[57] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้ทรงเป็นมหามุนี ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เสด็จอุบัติขึ้น กำจัดความมืดมนคือโมหะให้พินาศไป
[58] ครั้งนั้น ศิษย์บางรูปประสงค์จะเล่าเรียนคัมภีร์ลักษณะ
อันมีองค์ 61 ในคัมภีร์พระเวท2 ได้มายังสำนักของข้าพเจ้า
[59] พระพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้ทรงเป็นมหามุนี
เสด็จอุบัติขึ้นในโลก เมื่อจะทรงประกาศสัจจะ 43
จึงได้ทรงแสดงอมตบท4

เชิงอรรถ :
1 ลักษณะมีองค์ 6 ในที่นี้หมายถึงมนตร์พรหมจินดามีองค์ 6 คือ (1) กัปปศาสตร์ (ว่าด้วยวิธีเกี่ยวกับ
การบูชายัญ) (2) พยากรณ์ศาสตร์ (แสดงการแยกปกติ) (3) นิรุตติศาสตร์ (แสดงศัพท์ เติมปัจจัย)
(4) สิกขาศาสตร์ (แสดงฐานกรณ์และปตยนะของอักษร) (5) ฉันโทวิจิติศาสตร์ (แสดงลักษณะของฉันท์)
(6) โชติสัตถศาสตร์ (แสดงลักษณะของดวงดาวที่บ่งถึงความเจริญและความเสื่อมของมนุษย์) (ขุ.วิ.อ.
996/309)
ดูเทียบเวทางคศาสตร์ของพราหมณ์ มี 6 อย่างคือ (1) ศึกษา คือ วิธีออกเสียงคำในพระเวทให้ถูกต้อง
(2) ไวยากรณ์ (3) ฉันท์ (4) เชยติส คือดาราศาสตร์ (5) นิรุกติ คือกำเนิดของคำ และ (6) กัลปะคือ
วิธีจัดทำพิธี (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หน้า 773)
2 คัมภีร์พระเวท หมายถึงคัมภีร์ของพราหมณ์ คัมภีร์ที่เขียนด้วยภาษาสันสกฤตของชาวฮินดู (ที.สี.อ.
1/256/223)
3 สัจจะ 4 ได้แก่ (1) ทุกข์ (2) สมุทัย (3) นิโรธ (4) มรรค (ขุ.อป.อ. 2/7/107)
4 ดูเชิงอรรถหน้า 4 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :9 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [42. ภัททาลิวรรค] 2. เอกฉัตติยเถราปทาน
[60] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความยินดี ร่าเริงบันเทิงใจ
มุ่งหวังกองธรรมอันวิเศษ ออกจากอาศรมแล้วพูดดังนี้ว่า
[61] พระพุทธเจ้าผู้ทรงลักษณะอันประเสริฐ 32 ประการ1
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก มาเถิด ท่านทั้งหลาย
เราทุกคนจักไปยังสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[62] ศิษย์เหล่านั้นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนบรรลุบารมีในพระสัทธรรม
แสวงหาประโยชน์อย่างยอดเยี่ยม ต่างรับว่า สาธุ
[63] ครั้งนั้น พวกเขาสวมชฎาและทรงบริขาร
นุ่งห่มผ้าหนังสัตว์
แสวงหาประโยชน์อย่างยอดเยี่ยมได้ออกไปจากป่า

เชิงอรรถ :
1 ลักษณะอันประเสริฐ 32 ประการ คือ (1) มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน (2) พื้นใต้พระบาททั้ง 2 มีจักร
ปรากฏข้างละ 1,000 ซี่ มีกงและดุม มีส่วนประกอบครบบริบูรณ์ทุกอย่าง (3) ทรงมีส้นพระบาทยาว
(4) มีองคุลียาว (5) ทรงมีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม (6) ทรงมีลายดุจตาข่ายที่ฝ่าพระหัตถ์
และฝ่าพระบาท (7) ทรงมีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ (8) ทรงมีพระชงฆ์เรียว ดุจแข้งเนื้อทราย (9) เมื่อ
ประทับยืน ไม่ต้องทรงก้มก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุได้ด้วยพระหัตถ์ทั้ง 2 (10) ทรงมีพระคุยหฐานเร้น
อยู่ในฝัก (11) ทรงมีพระฉวีวรรณงดงามดุจหุ้มด้วยทองคำ (12) ทรงมีพระฉวีละเอียดจนละอองธุลี
ไม่เกาะติดพระวรกาย (13) ทรงมีพระโลมชาติงอกเส้นเดียวในแต่ละขุม (14) ทรงมีพระโลมชาติสีเข้ม
เหมือนดอกอัญชันขดเป็นลอนเวียนขวามีปลายตั้งขึ้น (15) ทรงมีพระวรกายตรงดุจกายพรหม (16) ทรง
มีพระมังสะพูนเต็มในที่ 7 แห่ง (คือ หลังพระหัตถ์ทั้ง 2 หลังพระบาททั้ง 2 พระอังสะทั้ง 2 และ
ลำพระศอ) (17) ทรงมีส่วนพระวรกายบริบูรณ์ดุจกึ่งกายท่อนหน้าของพญาราชสีห์ (18) ทรงมีพระ
ปฤษฎางค์เต็มเรียบเสมอกัน (19) ทรงมีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลต้นไทร พระวรกายสูง
เท่ากับวาของพระองค์ (20) ทรงมีพระศอกลมงามเต็มเสมอ (21) ทรงมีเส้นประสาทสำหรับรับรส
พระกระยาหารได้อย่างดี (22) ทรงมีพระหนุดุจคางราชสีห์ (23) ทรงมีพระทนต์ 40 ซี่ (24) ทรง
มีพระทนต์เรียบเสมอกัน (25) ทรงมีพระทนต์ไม่ห่างกัน (26) ทรงมีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม (27) ทรง
มีพระชิวหาใหญ่ (28) ทรงมีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหมตรัสมีสำเนียงดุจนกการเวก (29) ทรงมีพระเนตร
ดำสนิท (30) ทรงมีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด (31) ทรงมีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนง
สีขาวอ่อนเหมือนปุยนุ่น (32) ทรงมีพระเศียรงดงามดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ (ที.ปา. (แปล)
11/200/159-163, ม.ม. (แปล) 13/386/474-478)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :10 }